วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด



ภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)


เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในตลาดสูง ค่าของเงินลดลง ปริมาณเงินอยู่ในมือประชาชนมากเกินไป

ประเภทของอัตราเงินเฟ้อ

ตามหลักวิชาการจะแบ่งอัตราเงินเฟ้อเป็น 3 ประเภท คือ

1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติและไม่มีผลเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงาน และรายได้ประชาชาติ

2.เงินเฟ้อปานกลาง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกินร้อยละ 5 ~ 20 % รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขโดยใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง

3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง คือ การที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยระดับราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 20 % ต่อปี ทำให้อำนาจการซื้อของเงินลดลงอย่างรวดเร็วมาก อย่างเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเยอรมัน จีนและประเทศไทย ได้พิมพ์ธนบัตรออกใช้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด จึงเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

สาเหตุของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อมีสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

1. เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น คือ ภาวะที่ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีมากกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการทำให้ปริมาณสินค้าและบริการในตลาดขาดแคลน ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

2. เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากระดับราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น หรืออัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเพราะกลัวราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อบุคคลแต่ละกลุ่ม ดังนี้

1. ผลดีต่อพ่อค้า นักธุรกิจ เพราะขายสินค้าหรือบริการได้ราคาสูงขึ้น และส่งผลดีต่อลูกหนี้ เพราะเงินที่เป็นหนี้มีอำนาจซื้อลดลง ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น จำนวนเงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง เท่ากับลูกหนี้ใช้หนี้น้อยลง แม้นว่าจำนวนเงินที่ชำระจะยังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีต่อกลุ่มบุคคลที่มีรายได้จากการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะสามารถเรียกค่าบริการ หรือตั้งราคาสินค้าได้ตามต้องการ เช่น แพทย์ ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ เป็นต้น

2. ผลเสียต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะรายได้เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เจ้าหนี้และผู้มีเงินออมจะเสียเ

ปรียบ เพราะมูลค่าของเงินลดลง เช่น สมชายมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร หนึ่งแสนบาท ในภาวะเงินเฟ้อ เงินหนึ่งแสนที่สมชายมีอยู่ จะมีค่าของเงินลดลงเพราะเงินเท่าเดิม แต่จะซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือถ้าต้องการสินค้าเท่าเดิม ต้องจ่ายเป็นเงินเพิ่มขึ้น เป็นต้น

แนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อน ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้

1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแ

ละเงินกู้เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงนอกจากนี้ยังเพิ่มการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ลดการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนและลดการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

2. ใช้นโยบายการคลัง โดยเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชน ใช้งบประมาณแบบเกินดุล คือ ลดรายจ่ายภาครัฐให้น้อยลง แต่เพิ่มรายได้ของรัฐบาลโดยการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง

ภาวะเงินฝืด (Deflation)

เงินฝืด หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในตลาดลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินอยู่ในมือประชาชนน้อยเกินไป

ประเภทเงินฝืด แบ่งเป็น

1.เงินฝืดอย่างอ่อน เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปจะลดลงเล็กน้อย

2.เงินฝืดอย่างปานกลาง มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแต่ไม่รุนแรง ระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดจะลดลงมากกว่าเงินฝืดอย่างอ่อน

3.เงินฝืดอย่างรุนแรง

สาเหตุของเงินฝืด เงินฝืดเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

1. เกิดจากปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการ ทำให้สินค้าเหลือเกินความต้องการ ราคาสินค้าลดลง

2. เกิดจากรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินที่ประชาชนจะซื้อสินค้ามีน้อยลง

3. ประชาชนเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป ทำให้การบริโภคมวลรวมลดลง

4. มีการส่งเงินตราออกไปต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อย

ผลกระทบของเงินฝืด

เงินฝืดทำให้ผู้ผลิตขาดทุน การค้าซบเซา การผลิตเลิกกิจการ ลูกจ้างแรงงานตกงาน เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้มีรายได้และผู้ผลิตได้ตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องแบกภาระในการแก้ปัญหาคนว่างงานและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ดี ภาวะเงินฝืดจะเป็นผลดีและผลเสียต่อบุคคลในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

1. ผลดีต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะซื้อสินค้าหรือบริการได้ในราคาลดลง ส่วนเจ้าหนี้และผู้มีเงินออมจะได้เปรียบ เนื่องจากราคาสินค้าลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น

2. ผลเสียต่อผู้ผลิต จะได้รับผลกระทบ เพราะราคาสินค้าลดลง อาจต้องประสบปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ ลูกหนี้ และนายธนาคาร จะเกิดความเสียเปรียบในด้านค่าของเงิน

แนวทางแก้ไขภาวะเงินฝืด

เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด การผลิตลดลง เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้

1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในมือประชาชนให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังลดการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนเพิ่มการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต เพื่อช่วยให้การผลิตดำรงอยู่ได้

2. ใช้นโยบายการคลัง โดยรัฐบาลใช้งบประมาณแบบขาดดุล คือ เพิ่มรายจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น และลดรายได้ภาครัฐให้น้อยลง เพื่อทำให้ปริมาณเงินในมือประชาชนเพิ่มขึ้น

อ้างอิง : http://www.maceducation.com/e-knowledge/2433110100/04.htm

http://thaitechnical.igetweb.com/index.php?mo=3&art=89486

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โปรแกรมเมอร์ (Programmer)


ในยุคที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
คอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เราใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานในออฟฟิส การจัดการเอกสาร การค้นหาข้อมูล หรือแม้กระทั่งการติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ต่างสถานที่ในเวลาที่รวดเร็ว บุคคลผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผลงานเหล่านี้ คือ ผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โปรแกรมเมอร์ (Programmer) ที่บุกเบิกสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมขึ้นมา พวกเขาทำงานกันอย่างไร ต้องมีความรู้และคุณสมบัติอย่างไรเพื่อจะเป็นโปรแกรมเมอร์ วันนี้เรามาทราบกันค่ะ

ลักษณะการทำงานของนักโปรแกรมเมอร์
โปรแกรมเมอร์ จะทำหน้าที่ นำข้อมูลการออกแบบรายละเอียดการวางโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์ จากนักวิเคราะห์ระบบงาน มาเขียนเป็นโปรแกรมต่าง ๆ ภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมจะแตกต่างกันไปตามลักษณะเครื่องของระบบฐานข้อมูล ทดสอบระบบและส่งให้นักวิเคราะห์ระบบทำการตรวจสอบอีกครั้งเพื่อหากจุดบกพร่องและแก้ไขก่อนนำไปใช้จริง
โปรแกรมเมอร์ยังต้องทำหน้าที่ รับรายละเอียดของความต้องการของผู้ใช้ระบบ (User) จากนักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) จัดทำแผนภูมิ (Flowchart) ขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด และถูกต้องตามหลักวิชา เพื่อประโยชน์ในการเขียนโปรแกรมสำหรับการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์แผนภูมิหรือแผนผังสายงาน แต่เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด

คุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นโปรแกรมเมอร์
• มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถเข้ารับศึกษาได้ในสถานบันการศึกษาที่เรียนทำการสอนหรือ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์
• มีทักษะในการการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์
• มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์และดัดแปลงความรู้ความสามารถทางด้านโปรแรกมคอมพิวเตอร์ ได้เป็นอย่างดี

ความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ
นักเขียนโปแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นได้ หากมีความสามารถในการวิเคราะห์ระบบและมีทักษะในการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ที่ดี สามารถก้าวไปยังตำแหน่ง นักวิเคราะห์ระบบงานหรือตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอีกก็ได้ หรืออาจจะหาอาชีพเสริมได้ด้วยการรับสอนภาษาคอมพิวเตอร์และรับเขียนโปรแกรมและวางระบบคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ รับเขียนโปรแกรมสำเร็จรูป หรือจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ก็ได้

ความต้องการของตลาดแรงงาน
การพัฒนาศักยภาพทางคอมพิวเตอร์ยังสามารถขยายตัวไปได้อีกมาก จำนวนโปรแกรมเมอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงยังไม่เพียงพอกับความต้องการขยายตลาดวงการไอที อาชีพนี้จึงยังมีแนวโน้มความต้องการในตลาดแรงงานค่อนข้างสูงและให้ผลตอบแทนสูง สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถมาก ดังนั้นโปรแกรมเมอร์จึงควรที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงใช้ในงานและพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น